วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประวัติศาสตร์อำเภอเสลภูมิ

ประวัติศาสตร์อำเภอเสลภูมิ
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอเสลภูมิ
เมืองอุดมทั่วแดนดิน ท้องถิ่นปลาชุม
ลุ่มน้ำยัง-ชี ประเพณีอนุรักษ์
ใจภักดิ์แผ่นดินธรรม เมืองนำแผ่นดินทอง

พิกัด 16°2′0″N 103°56′2″E

  1. อุปฮาด (แพง) เมืองยโสธร
เมื่อพระยาพิชัยสุริยวงศ์ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ดำรงตำแหน่งราชวงศ์เมืองโขง จึงมาตั้งเมืองยศสุนทร ที่บ้านสิงห์ท่า (บริเวณวัดสิงห์ท่า อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ปัจจุบัน) จนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า เป็นพระสุนทรวงศ์ษา เจ้าเมืองคนแรก ในปี พ.ศ.2357 ครั้นเมื่อถึงแก่อนิจกรรม ในปี พ.ศ.2366 แล้ว อุปฮาด (สีชา) ผู้เป็นบุตรได้เป็ฯเจ้าเมืองแทน มีท้าวแพง (เป็นบุตรพระประทุมสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวิลัย) เป็นอุปฮาต พระสุนทรวงศ์ษา (สีชา) เป็นเจ้าเมืองยโสธร เป็นเจ้าเมืองได้ 1 ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรมทในช่วงเวลานั้นได้เกิดเหตุการณ์ สงครามเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ ท้าวเหม็นซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครพนม มีความดีความชอบในการปราบเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็น สุนทรวงศา มหาขัติยชาติ ประเทศชาติดำรศักดิ์ลือไกล พิชัยสงคราม เจ้าเมืองยโสธรและเจ้าเมืองนครพนม มีท้าวแพงเป็นอุปฮาตเมืองยโสธร
  1. หลวงจุมพลภักดี (ท้าวเสน)
  • อุปฮาต (แพง) เมืองยโสธร ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2400 (อายุ 85 ปี เกิดปี พ.ศ.2315) มีบุตรจำนวน 4 คน คือ
    • ท้าวสุริยเข้   เป็นอุปฮาตเมืองยโสธรแทนบิดา
    • ท้าวกันยา    เป็นราชวงศ์
    • ท้าวเสน      เป็นหลวงจุมพลภักดี กรมการเมืองยโสธร
    • ท้าวโพ       ไม่ปรากฎตำแหน่ง แต่ภายหลังได้ติดตามท้าวเสนมาอยู่เมืองเสลภูมิ
  • หลวงจุมพลภักดี (เสน) กรมการเมืองยโสธร มีหน้าที่เดินทางเก็บส่วยอากร
    • ด้านเมืองยโสธร ตั้งแต่บ้านเดิด บ้านบาก บ้านคั่นไดใหญ่ บ้านไผ่ส่างสร้าง บ้านทุ่งแต้ บ้านทรายมูลใหญ่
    • ทางด้านทิศเหนือ คือบ้านขี้แกวห้องแซง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภิเลิงนกทา) จังหวัดยโสธร ไปจรดดงแผดหลักทอดยอดยัง(สายห้วยอยู่บ้านบุ่งคล้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์) และห้วยจุมจัง
    • ทิศตะวันออก ตั้งแต่ห้วยตาแหลว (ตรงข้ามบ้านธวัชดินแดง อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด)
    • ทิศใต้จดลำน้ำชี บ้านชีโหล่นถึงปากทางห้วยดางเดียว (บ้านอีโก่ม ปัจจุบัน)  ไปจนถึงบึงกิว   (อยู่ระหว่างบ้านงิ้วกับบ้านธวัชบุรี)
  • หลวงจุมพลภักดี (เสน) กรมการเมืองยโสธร ทำหน้าที่เป็นกองทัพสักเลขหมวดหมู่ ในละแวกลุ่มแม่น้ำยัง ลุ่มแม่น้ำตาแหลว ลุ่มน้ำจุมจัง ฯลฯ ได้เลกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้มีความรอบรู้ในพื้นที่ บริเวณที่เดินทางออกไปสักเลกเก็บส่วยเป็นอย่างดีว่า บริเวณใดมีทำเลเหมาะสมที่จะสร้างบ้านแปลงเมืองได้ และพิจารณาเห็นว่า บริเวณบ้านโตงโต้น มีพื้นที่ป่าดงขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นสันเนินยาว สมบูรณ์พร้อมทั้งป่า เขา แหล่งน้ำและมีทุ่งนาอยู่รอบๆ คือ
    • ด้านทิศใต้เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีแม่น้ำชีไหลผ่าน
    • ทิศตะวันตกเป็นบึงโดน
    • ทิศเหนือเป็นป่าโคกภูดินหรือดงภูดิน และมีลำห้วยหมากเว (ห้วยศาลาลอย) ไหลลงบึงโดน
    • ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทุ่งนากว้างใหญ่
  • จึงเริ่มควาคิดที่จะตั้งเมืองใหม่ บริเวณดงโตงโต้น ในปี พ.ศ.2415 (สมัยพระสุนทรวงศา : สุพรหม เป็นเจ้าเมืองยโสธร)
ท้าวเสน ตั้งเมืองที่บ้านโตงโต้น

  • การเริ่มต้นสร้างเมืองของหลวงจุมพลภักดี (เสน) ได้ใช้วิธีการอพยพราษฎรจากบ้านต่างๆ มาอยู่รวมกันก่อน โดยเริ่มจากบ้านเดิด บ้านบาก (ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ปัจจุบัน) แล้วจึงค่อยๆ ให้ทะยอยมาสมทบกัน จนกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ จึงเรียกว่า “บ้านโตงโต้นบึงโดน” (เหตุเพราะมีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้บึงโดน : ปัจจุบันคือ หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 ตำบลกลาง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านในแถบเมืองยโสธรพากันยพยพมาอยู่เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก.
ท้าวเสนถูกจับ

  • แม้การคิดเริ่มต้นสร้างบ้านเมืองใหม่ที่บ้านโตงโต้นบึงโดนของหลวงจุมพลภักดี จะได้รับความร่วมมือจากผู้เป็นมิตรสหายสนิท คือกรมการเมืองโคตรศรีคุณ เมืองยโสธร และพระราษฎรบริหารเจ้าเมืองกมลาไสย ฯลฯ ก็ตาม แต่เมื่อข่าวรู้ไปถึงพระสุนทรวงศา (สหพรหม) เจ้าเมืองยโสธร ก็ไม่พอใจ จึงตั้งข้อกล่าวหาหลวงจุมพลภักดี (เสน) ว่า กินส่วยและเป็นกบฎ จับคุมตัว ใส่โซ่ตีตรวน ขังไว้ในคุก (ที่หาดวัดแจ้ง (หาดสวนยา) จังหวัดอุบลราชธานี )ในปัจจุบัน บรรดาพี่น้องและมิตรสนิท จึงร่วมกันวางแผนและรวบรวมทรัพย์สินเงินทองเพื่อนำไปใช้หาทางช่วยเหลือจากการคุมขัง จนหลุดพ้นมาได้  จากนั้นหลบหนีไปพบกรมเมืองโคตรศรีคุณ ที่บ้านค้อ ริมฝั่งลำน้ำชี (ปัจจุบัน คือตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร)  กรมการเมืองโคตรศรีคุณ จึงพาหลวงจุมพลภักดีหลบหนีภัยไปที่บ้านน้ำเที่ยง ริมฝั่งน้ำชี แล้วจึงคิดปรึกษาหารือ พร้อมกับญาติ เรื่องการตั้งเมืองใหม่ต่อไป
ท้าวเสนเข้ากรุงเทพฯ

  • จึงตัดสินใจใช้วิธีเดินทางเข้ากรุงเทพ เพื่อขอเรียนเมือง คือเข้าไปขอเสนอตัวเป็นเจ้าเมืองกับทางราชสำนักกรุงเทพฯ แต่ก็ติดขัดที่ไม่มีเงินทอง จึงไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท คือ ท้าวจันทร์ศรีสุราช เศรษฐีบ้านเดิด-บ้านบาก (ท้าวจันทร์ศรีสุราช เป็นคุณตาของอัญญาแม่ปั่น ภรรยาของท้าวอัครบุตร) แต่ปรากฎว่าท้าวจันทร์ ถึงแก่กรรมไปก่อน จึงไปขอพึ่งอุปฮาตบ้านขวาว (ขณะนั้นทำนาอยู่ที่ดอนบ้านหนอง) แต่อุปฮาตบ้านขวาวก็ถึงแก่กรรมอีก จึงพากันไปปรึกษากับเมืองแสน (ต้นตระกูลกำแพงแสน) เพื่อให้พาไปขอความช่วยเหลือจากพระราชฎรบริหาร (บัวทอง) เจ้าเมืองกมลาไสย ซึ่งเดินทางเข้าไปเรียนเมืองต่อที่กรุงเทพฯ มาใหม่ๆ (ต่อจากพระราษฎรบริหาร : เกษ ผู้เป็นบิดา ซึ่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2419) พระราษฎรบริหาร (บัวทอง) จึงช่วยค้นหา “งาช้างเค้า” ให้หลวงจุมพลภักดี 1 คู่ เพื่อนำไปกรุงเทพฯ โดยต้องเก็บส่วยทั้งเมืองกมลาไสยและเมืองหลวงด้วย


  1. พระนิคมบริรักษ์ (ท้าวเสน) เจ้าเมืองเสลภูมิ

  • หลวงจุมพลภักดี (เสน) และพรรคพวกเดินทางไปเรียนเมือง เพื่อกราบบังคมทูลขอเป็นเจ้าเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ตามความประสงค์ ในปีเถาะ เอกศก จ.ศ.1241 พ.ศ.2422 ยกบ้านโตงโต้นบึงโดน เป็นเมืองเสลภูมินิคม ให้หลวงจุมพลภักดี รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระนิคมบริรักษ์ เจ้าเมืองเสลภูมิ ขึ้นตรงต่อเมืองกมลาไสย รับพระราชทานเบี้ยหวัด เงินปีในท้องพระคลัง ปีละ 10 ชั่ง (800 บาท)
  • อาณาเขตของเมืองเสลภูมินิคมในช่วงเริ่มแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2422 คือ
    • ทิศเหนือ        จรด หลักทอดยอดยัง (อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์)
    • ทิศใต้             จรด สรบุตร (อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด)
    • ทิศตะวันออก   จรด ลำน้ำยัง
    • ทิศตะวันตก     จรด ลำน้ำชี
  • จากนั้นพระนิคมบริรักษ์ (เสน) จึงได้ชชวนพี่น้องบ้านเดิด บ้านบาก ตามมาอยู่ร่วมด้วยอีกหลายซุม (ตระกูล-กลุ่มตระกูล) เช่น
    • กลุ่มบ้านคั่นไดใหญ่ มาอยู่คุ้มสร้างกิน (บ่อหิน: อยู่หน้าลานมันศักดิ์ทวี ปัจจุบัน)
    • กลุ่มบ้านส่งไผ่สร้าง มาอยู่ทางตะวันตกวัดกลาง (วัดมิ่งเมือง/วัดกลางมิ่งเมือง) เรียกว่าคุ้มบ้านไผ่
    • กลุ่มบ้านเชียงหวาง มาอยู่ทางทิศตะวันออกวัดกลาง เป็นต้น
  1. พระนิคมบริรักษ์ (ท้าวเสน) จัดราชการบ้านเมืองเสลภูมินิคม

  • เมื่อได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระนิคมบริรักษ์ เจ้าเมืองเสลภุมิ ในปี พ.ศ.2422 แล้ว จึงได้จัดราชการบ้านเมือง แต่งตั้งกรมการเมืองตามประเพณีการปกครอง แบบอีสานลานช้างเดิม ที่เรียกว่า “อาชญา 4 “ ของหัวเมืองขนาดเล็ก คือ อัคฮาต อัครวงศ์ อัครบุตร เมืองเสน เมืองจันทร์ (ทะเบียนบัญชี) ชาเนตร (ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่) ชานนท์ (ที่ปรึกษา) ฯลฯ ตั้งบ้านเรือนเป็นที่ว่าการเมืองอยู่คุ้มเมืองเก่า ตุ้มหนองผักตบ (ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลกลาง อำเภอเสลภูมิ)

  • เก็บส่วยส่งพระราษฎรบริหาร (บัวทอง) เจ้าเมืองกมลาไสย และส่งส่วยเมืองหลวง ผ่านกรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ ที่มาประทับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี และยังต้องเก็บส่วยหาเงินทองเพื่อชดใช้พระราษฎรบริหาร (บัวทอง) ที่มอบงาช้าง ให้นำไปถวายเพื่อเรียนเมืองที่กรุงเทพฯ อีกด้วย
  1. เมืองเสลภูมินิคม ในยุคปฎิรูปการปกครองหัวเมืองอีสาน

  • ในช่วงที่มีการปฎิรูปการปกครองหัวเมืองอีสานนั้น ทำให้หัวเมืองใหญ่ขึ้นกับกรุงเทพฯ โดยตรง เช่น เมืองจำปาศักดิ์ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ กมลาไสย ฯลฯ ส่วนหัวเมืองเล็กหลายหัวเมืองจะขึ้นตรงกับหัวเมืองใหญ่ ผ่านขึ้นไปยังกรุงเทพฯ เช่น จตุรพักรพิมาน เมืองพยัคฆภูมิ และเมืองพนมไพรแดนมฤค ขึ้นตรงต่อเมือง สุวรรณภูมิ เมืองวาปีปทุม เมืองโกสุมพิสัย ขึ้นตรงต่อเมืองมหาสารคาม
เมืองเสลภูมินิคม ขึ้นตรงกับเมืองกมลาไสย

  • เมืองเสลภูมินิคมขึ้นตรงต่อเมืองกมลาไสย ครั้นเมื่อจัดการปกครอง หัวเมืองมณฑลอิสาน โดยแยกออกเป็น 3 มลฑล ในสมัยพระน้องเธอฯ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ มาปกครองอยู่เมืองนครราชสีมา เมืองเสลภูมินิคมยังขึ้นกับเมืองกมลาไสย อยู่ในเขตปกครองของมลฑลลาวกาว ที่มีพระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ ประทับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี
กบฎผีบุญ

  • ในปี พ.ศ. 2443-2444 ได้เกิดเหตุการณ์ “กบฎผีบ้าผีบุญ” ขึ้นที่เมืองเสลภูมินิคม ด้วยความเชื่อกันว่า หินจะหลายเป็นเงินเป็นทอง สัตว์เลี้ยงพวกวัวควาย หมูจะกลายเป็นยักษ์กินคน ให้ปล่อยสัตว์เหล่านั้นทิ้งไป จะได้ปลอดภัยจากการถูกจับกิน ปรากฎว่ามีชาวเมืองใกล้เคียงในแถบนั้น เช่น ยโสธร ร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ ฯลฯ แตกตื่นพากันมาเก็บหินแห่ที่วัดหัวโล่ (วัดเหนือ ในปัจจุบัน) ไปให้ผีบ้าผีบุญเสกเป่าให้เป็นเงินเป็นทอง ซึ่งนับว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่วุ่นวายในเมืองเสลภูมินิคม มากพอสมควรกรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ จึงให้ร้อยเอกหลวงชิตสรการ (จิตร) นำทหาร : กองร้อยไปปราบผีบ้าผีบุญได้ ให้ประหารชีวิตโดยการตัดหัว
เมืองเสลภูมินิคมขึ้นกับร้อยเอ็ด

  • หลังเหตุการณ์กบฎผีบ้าผีบุญสงบ ทางราชการ สำนักกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองหัวเมืองมณฑลอีสาน ที่มีเจ้าเมืองปกครอง มาเป็นการปกครองบริเวณ มีข้าหลวงมาปกครองแทนในปี พ.ศ.2447 เมืองเสลภูมินิคม ขึ้นอยู่ในการปกครองของเมืองร้อยเอ็ด (รวมทั้งเมืองกาฬสินธุ์ เมืองมหาสารคาม เมืองกมลาไสบ ฯลฯ ด้วย) โดยเฉพาะพระพินิจสารา (ทับทิม บุญญรัตพันธ์) เป็นข้าหลวงบริเวณคนแรก
  1. เมืองเสลภูมินิคม ในระบบเทศาภิบาล

  • ครั้นเมื่อมีการเปลี่ยนการปกครอง มาเป็นแบบเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.2451 จึงมีการยุบบริเวณที่เป็นมณฑล มีมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล มณฑลอุดรและมณฑลนครราชสีมา บรรดาหัวเมืองใหญ่ในมณฑลต่างๆ ให้เปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัด ส่วนหัวเมืองเล็กๆ  ให้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอ เมืองเสลภูมินิคม ซึ่งจัดว่าเป็นหัวเมืองเล็ก จึงมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่ง ขึ้นตรงกับเขตการปกครองของจังหวัดกาฬสินธุ์ (คงจะเพราะสาเหตุว่าเคยส่งส่วยตรงต่อกมลาไสย ซึ่งมีฐานะเป็นอำเภอขึ้นตรงกับเมืองกาฬสินธุ์ด้วย) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญกับเมืองเสลภูมิอยู่ไม่น้อย คือ ในช่วงนี้ได้กำหนดให้แยกเขตการปกครองของเมืองเสลภูมิ ออกเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภอเหนือ และอำเภอใต้
พระนิคมบริรักษ์เป็นนายอำเภอเหนือ
  • อำเภอเหนือ ปกครองดูแลพื้นที่ลุ่มน้ำยัง ลุ่มน้ำแกว ลุ่มน้ำห้วยตาแหลว ดงแม่เผด มีพระนิคมบริรักษ์ เป็นนายอำเภอ (ปัจจุบันคือ หมู่ที่ 4 ตำบลกลาง)
  • อำเภอใต้ ปกครองดูแลพื้นที่บริเวณลำน้ำชีทั้งหมด มีท้าวอัครบุตร เป็นายอำเภอ ตั้งที่ว่าการอยู่ตรงข้ามวัดศรีทองนพคุณ ถนนอัครบัตรพิศาล


พระนิคมบริรักษ์ (ท้าวเสน) ถึงแก่อนิจกรรม

  • เมื่อพระนิคมบริรักษ์ ถึงแก้อนิจกรรม เพราะชราภาพ ทางราชการจังหวัด แต่งตั้งให้ท้าวอัครบุตร ซึ่งเป็นนายอำเภอ ได้ปกครองดูแลทั้งสองอำเภอ จนกระทั่งปี พ.ศ.2453 จึงได้ยุบอำเภอทั้งสองเป็นอำเภอเดียวกันเรียกว่า “อำเภอเสลภูมิ”

  • ในปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงจัดการปกครองท้องที่ใหม่ โดยตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ให้จัดรูปแบบการปกครองเป็นจังหวัด อำเภอเสลภูมิ จึงเปลี่ยนมาขึ้นกับเขตการปกครองของจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

  • เมื่อเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ดแล้ว ได้มีการย้ายที่ว่าการอำเภอ จากคุ้มเมืองเก่าที่หนองผักตบ มาสร้างใหม่ตรงที่เป็นตลาดเสลภูมิปัจจุบัน ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ที่ว่าการอำเภอ จึงได้ย้ายมาสร้างใหม่อีกครั้งหนึ่ง ณ ที่เป็นที่ว่าการอำเภอเสลภูมิ ทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น