วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559

จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติศาสตร์จังหวัดนครราชสีมา


          จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองเก่าแก่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่ในสมัยขอมในสมัยโบราณเป็นเมืองชั้น "เจ้าพระยามหานคร" ในปัจจุบันก็ยังคงมีความสำคัญ กล่าวคือ เป็นปากประตูสู่ภาคอีสาน และเป็นชุมทางคมนาคมสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั้ง ๑๖ จังหวัดในภาคอีสานอีกด้วย
          นครราชสีมา เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งในอาณาจักรไทย เดิมทีเดียวตัวเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  ในท้องที่อำเภอสูงเนิน ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันประมาณ ๓๑ กิโลเมตร มีเมืองอยู่ ๒ เมือง คือเมือง "โคราช" หรือ "โคราฆะปุระ" กับเมือง "เสมา" ทั้ง ๒ เมืองโบราณดังกล่าวเคยเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยขอม ปัจจุบันเป็นเมืองร้างตั้งอยู่ริมฝั่งลำตะคอง
          เมืองเสมา ตั้งอยู่ฝั่งใต้ลำตะคอง มีเนินดินกำแพงเมืองและคูเมืองทั้ง ๔ ด้านตัวกำแพงสร้างด้วยแลง ยังมีเหลือซากอยู่บ้าง ภายในเมืองมีสระและบึงใหญ่น้อยอาศัยใช้น้ำได้ตลอดปี มีโบราณวัตถุสมัยทวารวดีขนาดใหญ่แสดงอายุของเมืองนี้ ๒ อย่าง คือ พระพุทธรูปทำด้วยศิลา เล่ากันว่าแต่แรกตั้งยืนอยู่โดดเดี่ยว แล้วถูกฉุดลากล้มลงแตกหักยับเยิน ต่อมามีผู้เกิดความสังเวช เก็บรวมประกอบเป็นองค์พระวางนอนไว้ จึงเรียกกันว่าเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ไป อีกอย่างเป็นธรรมจักรศิลาขนาดวัดผ่าศูนย์กลางราว ๑.๕๐ เมตร เวลานี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดคลองขวาง ตำบลเสมา ห่างจากถนนมิตรภาพประมาณ ๙-๑๐ กิโลเมตร
          เมืองโคราฆะปุระ ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือลำตะคอง ในตำบลโคราช ห่างจากเมืองเสมา ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖ กิโลเมตร หรือห่างจากที่ว่าการอำเภอสูงเนินไปราว ๒-๓ กิโลเมตร ในบริเวณเมืองมีปราสาทหินย่อม ๆ ๒-๓ แห่ง แห่งหนึ่งเคยตรวจพบศิวลึงค์ศิลา ขนาดยาว .๙๒/ .๒๘ เมตร กับศิลาทับหลังประตูจำหลักลายเป็นรูปพระอิศวรประทับยืนบนหลังโคอุศุภราช จึงน่าเชื่อว่าปราสาทหินหลังนี้อาจสร้างเป็นเทวสถานฝ่ายนิกายไศวะ เมืองนี้ในสมัยหนึ่งคงเป็นเมืองสำคัญ ตั้งรักษาเส้นทางที่ลงมายังแผ่นดินต่ำทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรี เพราะอยู่ในที่ร่วมของเส้นทางเดินทางช่องดงพระยาไฟกับดงพระยากลาง
          ที่หน้าอำเภอสูงเนินมีศิลาจารึกเป็นภาษาสันสฤตกับภาษาขอมแผ่นหนึ่งหักเป็น ๒ ท่อน เดิมอยู่ที่หมู่บ้านบ่ออีกาในเขตเมืองเสมา เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันอายุของเมืองในอำเภอสูงเนิน เนื้อความในจารึกเล่าถึงพระเจ้าศรีจนาศ (หรือ ศรีจนาเศศวร) ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระภิกษุสงฆ์ เมื่อ พ.. ๑๔๑๑

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

          เมื่อราว พ.. ๑๘๐๐ เศษ พ่อขุนรามคำแหงได้เสวยสิริราชสมบัติกรุงสุโขทัยมีอานุภาพมาก แผ่ราชอาณาเขตกว้างขวาง ดังปรากฏในศิลาจารึกแสดงเขตอาณาจักรสุโขทัยสมัยนั้นว่าทิศเหนือตั้งแต่เมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดถึงแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันตกตลอดเมืองหงสาวดี ทางทิศใต้ตลอดแหลมมลายู แต่ทางทิศตะวันออกบอกเขตแดนทางแผ่นดินสูงเพียงตอนเหนือราวท้องที่จังหวัดอุดรธานี เลย และหนองคาย ไปถึงเวียงจันทน์ เวียงคำเป็นที่สุดไม่ปรากฏชื่อเมืองทางแผ่นดินสูงตอนใต้ กับทั้งทางแผ่นดินต่ำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรีเช่น เมืองลพบุรี เมืองอยุธยา ปราจีนบุรี เป็นต้น โดยเหตุนี้จึงมีคำสันนิษฐานเกิดขึ้นว่าดินแดนเหล่านี้เป็นอาณาจักรของขอมซึ่งมีกำลังแข็งแรงกว่าอาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงจึงไม่อาจแผ่เดชานุภาพเข้ามา แต่เท่าที่ได้สังเกตศึกษาทั้งทางด้านศิลปและตำนานสงสัยว่าดินแดนเหล่านี้หาได้อยู่ในความปกครองของพวกขอมไม่ หากแต่อยู่ในอำนาจของอาณาจักรไทยพวกหนึ่งซึ่งมีราชธานี เรียกว่า กรุงอโยธยา เป็นอาณาจักรที่มีมาตั้งแต่ราวพุทธศวรรษที่ ๑๖ และสิ่งสำคัญเป็นหลักฐานของอาณาจักรนี้ ก็คือศิลปกรรมอู่ทอง (หรือลพบุรีตอนต้น) อันมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับศิลปกรรมของขอมอยู่มาจนกระทั่งถูกเข้าใจคลุม ๆ ไปว่าเป็นประดิษฐกรรมของพวกขอมเสียเกือบหมดสิ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณวัตถุจำพวกหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เข้าใจว่าจะไม่สันทัดถนัดทำเลย) อาณาจักรอโยธยาคงจะรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ทั้งอำนาจและศิลปศาสตร์ จึงปรากฏในพงศาวดารทางลานนาประเทศว่า พ่อขุนรามคำแหงกับพ่อขุนงำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา ขณะยังเยาว์วัยต้องลงมาศึกษาวิชาการ ณ เมืองละโว้ (ลพบุรี) ในแว่นแคว้นนี้ถึงแม้ประเทศกัมพูชาอันมีพระนครหลวง เป็นราชธานีก็คงตกอยู่ในความปกครองระยะหนึ่งระยะใดในระหว่างพุทธศวรรษที่ ๑๙ เพราะตอนปลายพุทธศตวรรษนั้น เมื่ออาณาจักรอโยธยาเปลี่ยนผู้สืบสันติวงศ์ใหม่เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จึงเกิดขอมแปรพักตร์ขึ้น ถึงกับต้องกรีธาทัพไปกำราบปราบปราม เวลานี้เรื่องราวของอาณาจักรอโยธยายังมืดมัวอยู่ แต่วัตถุพยานชี้ร่องรอยชวนให้ศึกษาค้นคว้ามีประจักษ์อยู่ คือ พระเศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ซึ่งขุดพบที่วัดธรรมิกราชขนาดใหญ่ที่ เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา กับพระพุทธตรัยรัตนนายก วัดพนัญเชิง ซึ่งมีมาก่อนสร้างพระนครศรีอยุธยา พระเศียรพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ที่วัดเดิม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมารวมทั้งโบราณวัตถุสถานแบบอู่ทองที่มีอยู่ในพระนครหลวงประเทศกัมพูชา เช่นที่ปราสาทหินเทพประณม ปราสาทหินนครวัด ตลอดจนศิลาจำหลักบางชิ้นในพิพิธภัณฑสถานกรุงพนมเปญ อันเป็นของเคลื่อนย้ายไปจากกลุ่มปราสาทหินบรรยงก์เป็นต้น

 

สมัยกรุงศรีอยุธยา

          ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (.. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) โปรดให้สร้างเมืองสำคัญที่อยู่ชายแดนให้มีป้อมปราการ สำหรับป้องกันรักษาราชอาณาจักรหลายเมือง เช่นนครศรีธรรมราช พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น จึงให้ย้ายเมืองที่ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน มาสร้างเป็นเมืองมีป้อมปราการและคูล้อมรอบขึ้นใหม่ ในที่ซึ่งอยู่ในปัจจุบันนี้ แล้วเอานามเมืองเดิมทั้งสอง คือ เมืองเสมา กับ เมืองโคราฆะปุระ มาผูกเป็นนามเมืองใหม่ เรียกว่า เมืองนครราชสีมา แต่คนทั้งหลายคงยังเรียกชื่อเมืองเดิมติดปากอยู่ จึงมักเรียกกันทั่วไปว่า เมืองโคราช เมืองนี้กำแพงก่อด้วยอิฐมีใบเสมาเรียงรายตลอดมีป้อมตามกำแพงเมือง ๑๕ ป้อม ประตู ๔ ประตู สร้างด้วยศิลาแลงมีชื่อดังต่อไปนี้
          ทางทิศเหนือ              ชื่อประตูพลแสน นัยหนึ่งเรียกประตูน้ำ
          ทางทิศใต้                 ชื่อประตูไชยณรงค์  นัยหนึ่งเรียกประตูผี
          ทางทิศตะวันออก         ชื่อประตูพลล้าน นัยหนึ่งเรียกประตูตะวันออก
          ทางทิศตะวันตก ชื่อประตูชุมพล
          ประตูเมืองทั้ง ๔ แห่งนี้มีหอรักษาการอยู่ข้างบนทำเป็นรูปเรือน (คฤห) หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนกันทุกแห่ง แต่ปัจจุบันคงเหลือรักษาไว้เป็นแบบอย่างแห่งเดียวเท่านั้น คือประตูชุมพล ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีสงวนรักษาไว้เป็นโบราณสถานเมื่อ พ.. ๒๔๘๐ นอกนั้นทั้งประตูและกำแพงเมืองได้ถูกรื้อสูญหมดแล้ว
          ในหนังสือเที่ยวตามทางรถไฟพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ      กรมพระยาดำรง-ราชานุภาพ เล่าถึงตำนานเมืองว่า
          ในทำเนียบครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เมืองนครราชสีมา มีเมืองขึ้น ๕ เมือง คือเมืองนครจันทึก อยู่ทางทิศตะวันตก เมือง ๑ เมืองชัยภูมิ อยู่ทางทิศเหนือ เมือง ๑ เมืองพิมายอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมือง ๑ เมืองบุรีรัมย์ อยู่ทางทิศตะวันออก เมือง ๑ เมืองนางรอง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมือง ๑ ต่อมาตั้งเมืองเพิ่มขึ้นอีก ๙ เมือง คือ ทางทิศเหนือ ตั้งเมืองบำเหน็จณรงค์ ๑ เมือง จัตุรัส ๑ เมือง เกษตรสมบูรณ์ ๑ เมือง ภูเขียว ๑ เมือง ชนบท ๑ เมือง รวม ๕ เมือง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งเมืองพุทไธสง ๑ เมือง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตั้งเมืองประโคนชัย ๑ เมือง รัตนบุรี ๑ เมือง ทางทิศใต้ ตั้งเมืองปักธงชัย ๑ เมือง เมืองนครราชสีมา จึงมีเมืองขึ้น ๑๔ เมืองด้วยกัน เมื่อสร้างเมืองใหม่ในครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงเลือกสรรข้าราชการที่เป็นคนสำคัญออกไปครอง ปรากฏว่าโปรดให้พระยายมราช (สังข์) ไปครองเมืองนครราชสีมาพร้อมกับโปรดให้พระยารามเดโช ไปครองเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนเมืองอื่นหาปรากฏนามผู้ไปครองเมืองไม่ ครั้นสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต เมื่อ พ.. ๒๒๓๑ พระเพทราชาได้ราชสมบัติ พระยายมราชและพระยารามเดโช ไม่ยอมเป็นข้าพระเพทราชา ต่างตั้งแข็งเมืองนครราชสีมาและเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นด้วยกัน กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงยกขึ้นไปทางดงพระยาไฟ พระยายมราชต่อสู้รักษาเมืองนครราชสีมาอยู่ได้พักหนึ่ง แต่สิ้นกำลังต้องหนีไปอยู่กับพระยารามเดโช ณ เมืองนครศรีธรรมราช ครั้งกองทัพกรุง ฯ ลงไปตีเมืองนครราชสีมาได้ในครั้งพระยายมราช (สังข์) ตั้งแข็งเมืองนั้น คงกวาดต้อนผู้คนและเก็บเครื่องศัตราวุธ ซึ่งมีไว้สำหรับรักษาเมืองนำมาเสียโดยมาก โดยหวังจะมิให้มีผู้คิดแข็งเมืองได้อีก ต่อมาในรัชกาลนั้นเอง มีลาวชาวหัวเมืองตะวันออกคนหนึ่ง ชื่อบุญกว้าง ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษกับพรรคพวกเพียง ๒๓ คน กล้าเข้ามาถึงเมืองนครราชสีมาพักอยู่ที่ศาลาแห่งหนึ่งนอกเมือง แล้วให้พระยานครราชสีมาคนใหม่ออกไป พระยานครราชสีมาขี่ช้างออกไป (เดิมเห็นจะตั้งใจออกไปจับ) ครั้นถูกอ้ายบุญกว้างขู่  พระยานครราชสีมากลับครั่นคร้าม (คงเป็นเพราะพวกไพร่พลพากันเชื่อวิชาอ้ายบุญกว้าง) เห็นหนีไม่พ้นต้องยอมเป็นพรรคพวกอ้ายบุญกว้าง แล้วลวงให้ยกลงมาตั้งซ่องสุมผู้คนที่เมืองลพบุรี พระยานครราชสีมาเป็นไส้ศึกอยู่จนกองทัพกรุง ฯ ยกขึ้นไปถึง จึงจับตัวอ้ายบุญกว้างกับพรรคพวกได้
          เห็นจะเป็นเพราะที่เกิดเหตุคราวนี้ ประกอบกับที่การรบในกรุง ฯ เป็นปกติสิ้นเสี้ยนหนามแล้ว จึงกลับตั้งกำลังทหารขึ้นที่เมืองนครราชสีมาดังแต่ก่อน ต่อมาปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เจ้าเมืองหลวงพระบางยกกองทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงจันทน์ขอให้กรุงศรีอยุธยาช่วย จึงโปรดให้พระยาสระบุรีเป็นนายทัพหน้า ให้พระยานครราชสีมา (ซึ่งเข้าใจว่าตั้งใหม่อีก ๑ คน) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นไปช่วยเมืองเวียงจันทน์ กองทัพยกขึ้นไปถึง พวกเมืองหลวงพระบางก็ยำเกรง เลิกทัพกลับไป หาต้องรบพุ่งไม่ แต่นี้ไปก็ไม่ปรากฏเรื่องเมืองนครราชสีมาในหนังสือพระราชพงศาวดาร จนแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เมื่อพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง ปรากฏว่าเกณฑ์ของกองทัพเมืองนครราชสีมาลงมาช่วยป้องกันรักษากรุง ฯ เดิมให้ตั้งค่ายอยู่ที่วัดเจดีย์แดงข้างใต้เพนียด แล้วให้พระยารัตนาธิเบศร์ คุมลงมารักษาเมืองธนบุรี ครั้นกองทัพพม่ายกมาจากเมืองสมุทรสงครามเมื่อเดือน ๑๐ ปีระกา พ.. ๒๓๐๘ พระยารัตนาธิเบศร์หนีกลับขึ้นไปกรุงฯ พวกกองทัพเมืองนครราชสีมาเห็นนายทัพไม่ต่อสู้ข้าศึก ก็พากันกลับไปบ้านเมืองหาได้รบพุ่งกับพม่าไม่ต่อมาเมื่อพม่ากำลังตั้งล้อมพระนครศรีอยุธยา ในปีจอ พ.. ๒๓๐๙ มีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองนครราชสีมาอีกตอนหนึ่ง เหตุด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเป็นโทษต้องเนรเทศไปอยู่ ณ เมืองจันทบุรี ชักชวนพวกชาวเมืองชายทะเลทางตะวันออกยกเป็นกองทัพมาหวังจะมารบพม่าแก้กรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธมาถึงเมืองปราจีนบุรี ให้กองทัพหน้ามาตั้งปากน้ำโยธกา แขวงจังหวัดนครนายก พม่ายกไปตีกองทัพหน้าแตก กรมหมื่นเทพพิพิธ เห็นจะสู้พม่าไม่ได้ ก็เลยขึ้นไปทางแขวงเมืองนครราชสีมา ไปตั้งที่ด่านโคกพระยาพิบูลสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองนครนายก กับหลวงนรินทร์ (ซึ่งได้เข้าเป็นพวกกรมหมื่นเทพพิพิธ) ไปตั้งอยู่ที่เมืองนครจันทึกอีกพวกหนึ่ง กรมหมื่นเทพพิพิธคิดจะชักชวนพระยานครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพลงมารบพม่า แต่พระยานครราชสีมาคนนั้นเป็นอริอยู่กับพระพิบูลสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองนครนายก แต่งคนร้ายให้มาลอบฆ่าพระพิบูลสงครามกับหลวงนรินทร์เสีย กรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้ลอบไปฆ่าพระยานครราชสีมาเสียบ้าง แล้วเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองนครราชสีมา ขณะนั้นหลวงแพ่ง น้องพระยานครราชสีมาหนีไปอยู่เมืองพิมายไปเกณฑ์คนยกกองทัพมาจับกรมหมื่นเทพพิพิธไปคุมตัวไว้ที่เมืองพิมาย ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก เมื่อวันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน พ.. ๒๓๑๐ สิ้นราชวงศ์ที่จะครองพระราชอาณาจักรบ้านเมืองเกิดเป็นจลาจล ผู้มีกำลังฝีมือหวังจะเป็นใหญ่ในประเทศไทยต่อไป ก็คิดตั้งเป็นเจ้ามีรวมด้วยกัน ๕ พรรคคือ
          . สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ลงไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีหัวเมืองอยู่ในอำนาจตั้งแต่ชายแดนกรุงกัมพูชาขึ้นมาจนถึงเมืองชลบุรี และต่อมาถึงข้างขึ้นเดือน ๑๒ ปีกุน พ.. ๒๓๑๐ ได้ยกกองทัพขึ้นมาโจมตีทหารพม่าซึ่งรักษาอยู่ที่เมืองธนบุรี กับค่ายโพธิ์สามต้นที่พระนครศรีอยุธยา พม่าพ่ายแพ้จนหมดสิ้น แล้วปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ตั้งแต่งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี
          . เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิษณุโลกมีอำนาจปกครองตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาถึงเมืองนครสวรรค์
          . พระสังฆราชา (เรือน) อยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี (ปัจจุบันเป็นอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์) ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นทั้งยังอยู่ในสมณเพศ เรียกกันว่าพระฝาง มีอำนาจปกครองหัวเมืองที่อยู่ข้างเหนือเมืองพิชัย และติดต่อกับแดนเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองหลวงพระบาง
          . พระปลัด (เข้าใจกันว่าชื่อหนู) ผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองนครศรีธรรมราช เรียกกันว่า เจ้านคร มีอำนาจปกครองหัวเมืองที่ติดต่อกับชายแดนมลายูขึ้นมาจนถึงเมืองชุมพร
          . กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งพระยาพิมายคุมไว้ที่เมืองพิมาย และยกขึ้นเป็นใหญ่ ณ เมืองนั้น เรียกว่าเจ้าพิมาย มีอำนาจปกครองตลอดอาณาเขตของนครราชสีมา เช่น เมืองจันทึก ปักธงชัย บุรีรัมย์
พุทไธสง ชัยภูมิ และภูเขียว เป็นต้น

สมัยกรุงธนบุรี

          เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกในวันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุน พ.. ๒๓๑๐ สิ้นพระราชวงศ์ที่จะปกครองพระราชอาณาจักร บ้านเมืองเกิดเป็นจลาจล ผู้มีกำลังฝีมือหวังจะเป็นใหญ่ในประเทศไทยต่อไปก็คิดตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า มีรวมด้วยกัน ๕ ชุมนุม คือ
          ชุมนุมที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ลงไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีหัวเมืองอยู่ในอำนาจตั้งแต่ชายแดนกรุงกัมพูชา ขึ้นมาจนถึงเมืองชลบุรี เมื่อถึงข้างขึ้น เดือน ๑๒ ปีกุน พ.. ๒๓๑๐ ได้ยกกองทัพเรือขึ้นมาโจมตีทหารพม่า ซึ่งรักษาอยู่ที่เมืองธนบุรีกับค่ายโพธิ์สามต้นที่พระนครศรีอยุธยา พม่าพ่ายแพ้จนหมดสิ้น แล้วปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี
          ชุมนุมที่ ๒ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิษณุโลก มีอำนาจปกครองตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์
          ชุมนุมที่ ๓ พระสังฆราชา (เรือน) อยู่ที่วัดพระฝางเมืองสวางคบุรี (ปัจจุบันเป็นอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์) ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นเรียกว่า เจ้าพระฝาง มีอำนาจปกครองหัวเมืองที่อยู่เหนือเมืองพิชัยและติดต่อกับแพร่ น่าน หลวงพระบาง
          ชุมนุมที่ ๔ พระปลัด (เข้าใจกันว่าชื่อหนู) ผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองนครศรีธรรมราชเรียกกันว่าเจ้านคร มีอำนาจปกครองหัวเมืองที่ติดต่อกับชายแดนมลายูขึ้นมาจนเมืองชุมพร
          ชุมนุมที่ ๕ กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งพระพิมายคุมไว้ที่เมืองพิมาย และยกขึ้นเป็นใหญ่ ณ ที่เมืองนั้น เรียกว่าเจ้าพิมาย มีอำนาจปกครองตลอดอาณาเขตของนครราชสีมา เช่น เมืองจันทึก ปักธงชัย บุรีรัมย์  พุทไธสง ชัยภูมิ และภูเขียว เป็นต้น
          เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีชัยขับไล่พวกพม่าไปจากพระนครศรีอยุธยา และมาตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานีเรียบร้อยแล้วก็ทรงเริ่มปราบปรามชุมนุมอิสระทั้ง ๔ ดังกล่าวมาโดยยกกองทัพไปตีเมืองพิษณุโลก เมื่อฤดูน้ำ ปีชวด พ.. ๒๓๑๑ แต่ไปถูกอาวุธข้าศึกต้องล่าถอยกลับมา พอมาถึงฤดูแล้งในปีชวดนั้น ก็ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองนครราชสีมา กองทัพกรุงธนบรีที่ยกไปครั้งนี้แบ่งเป็น ๒ กองทัพ กองทัพที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จคุมไปเอง ยกขึ้นไปทางดงพระยาไฟเข้าตีทางด้านตะวันตกทางหนึ่ง ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระราชวรินทร์ กับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสรุสิงหนาท เมื่อยังเป็นพระมหามนตรีคุมกองทัพขึ้นไปทางช่องเรือแตก (เข้าใจว่าช่องสะแกราช) เข้าตีทางด้านใต้ทางหนึ่ง ฝ่ายเจ้าพิมายให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (คือพระพิมาย) เป็นแม่ทัพใหญ่ ให้มองย่าปลัดทัพพม่าที่หนีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปจากพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ปรึกษา คุมกองทัพมาต่อสู้รักษาเขตแดน ครั้งนั้นกำลังรี้พลของเจ้าพิมายเห็นจะมีน้อยไม่พอรักษาป้อมปราการเอาเมืองนครราชสีมาเป็นที่มั่น จึงปรากฏว่ากองทัพเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาตั้งค่ายสกัดทางอยู่ที่ด่านจอหอ ข้างเหนือเมืองนครราชสีมาแห่งหนึ่งแล้วให้บุตรซึ่งเป็นที่พระยาวรวงศาธิราชคุมกองทัพมาตั้งค่ายสกัดทางอยู่ที่ด่านกระโทก (เวลานี้คือ อำเภอโชคชัย) ข้างใต้เมืองนครราชสีมาอีกแห่งหนึ่ง กองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้ด่านจอหอ จับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ กองทัพพระมหามนตรีและพระราชวรินทร์ตีค่ายด่านกระโทกแตก พระยาวรวงศาธิราชหนีไปทางเมืองเขมรต่ำ กองทัพพระมหามนตรีกับพระราชวรินทร์ตามไปตีได้เมืองเสียมราฐอีกเมืองหนึ่ง เจ้าพิมายรู้ว่ากองทัพเสียทีก็หลบหนีหมายจะไปอาศัยเมืองเวียงจันทน์ แต่ขุนชนะกรมการเมืองนครราชสีมาตามจับมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบรีได้ จึงทรงตั้งให้ขุนชนะเป็นพระยานครราชสีมา (ต้นสกุลกาญจนาคม) แต่นั้นก็ได้เมืองนครราชสีมามาเป็นเมืองขึ้นกรุงธนบุรี แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังต้องทำการปราบปรามพวกที่ตั้งเป็นอิสระอื่น ๆ เมื่อปราบปรามได้หมดแล้วยังต้องรบกับพม่า ต่อมาอีกหลายปีจึงมิได้จัดวางรูปการปกครองเมืองนครราชสีมาให้เป็นเขื่อนขัณฑ์มั่งคง เพราะเหตุนั้นเมื่อ พ.. ๒๓๑๘ เวลากรุงธนบุรีกำลังติดพันรบพุ่งกับพม่า คราวอะแซหวุ่นกี้มาตีเมืองเหนือ พระยานางรอง เจ้าเมืองนางรอง อันเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา ไม่ชอบกับพระยานครราชสีมาแต่เดิม เห็นได้ทีจึงเอาเมืองไปขอขึ้นต่อเจ้าโอ ซึ่งครองเมืองจำปาศักดิ์เป็นอิสระอยู่ในสมัยนั้น ฝ่ายเจ้าโอคาดว่าไทยคงสู้พม่าไม่ได้ก็รับไว้ พระยานางรองก็ตั้งแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา ครั้นพม่าถอยทัพไปแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระยาจักรี เสด็จไปปราบปรามเมื่อ พ.. ๒๓๑๙ เจ้าพระยาจักรียกกองทัพไปยังเมืองนครราชสีมา แล้วให้กองหน้าไปจับได้ตัวพระยานางรองมาชำระความจึงทราบว่าเจ้าเมืองจำปาศักดิ์กำลังเตรียมกองทัพ จึงบอกเข้ามายังกรุงธนบุรีจะขอไปตีเมืองจำปาศักดิ์ต่อไป สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหา
สุรสิงหนาท เมื่อยังดำรงยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพหนุนเข้าไปอีกทัพหนึ่ง เจ้าพระยาทั้งสองยกกองทัพไปตีได้เมืองนครจำปาศักดิ์และหัวเมืองทางฟาก แม่น้ำโขงฝั่งซ้ายจนถึงเมืองอัตบือ ได้หัวเมืองทางริมแม่น้ำโขงข้างใต้ตลอดจนต่อแดนกรุงกัมพูชา ซึ่งเวลานั้นเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงธนบุรีอยู่ ได้ไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองเขมรป่าดง คือ เมืองตะลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ ก็ยอมสวามิภักดิ์ขึ้นต่อไทยทั้ง ๓ เมือง ในครั้งนั้นราชอาณาเขตกรุงธนบุรีขยายต่อออกไปตลอดแผ่นดินสูงในตอนข้างฝ่ายใต้ เมืองนครราชสีมาได้ปกครองบังคับบัญชาเหล่าหัวเมืองที่ได้ใหม่ เมืองนครราชสีมาจึงเป็นเมืองสำคัญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

          รัชกาลที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงจัดการปกครองหัวเมืองทางแผ่นดินสูงตอนริมแม่น้ำโขงเป็นประเทศราช ๓ เมือง คือ เมืองเวียงจันทร์ เมืองนครพนม และเมืองนครจำปาศักดิ์ ให้เมืองนครราชสีมาปกครองเมืองเขมรป่าดงและหัวเมืองดอนที่ไม่ได้ขึ้นต่อประเทศราชทั้ง ๓ นั้น และกำกับตรวจตราเมืองประเทศราชเหล่านั้นด้วย แล้วยกฐานะเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองชั้นเอก ผู้สำเร็จราชการเมืองมียศเป็นเจ้าพระยา เจ้าพระนครราชสีมาคนแรก ชื่อเดิมคือ ปิ่น ณ ราชสีมา และในรัชกาลนี้ เมืองนครราชสีมาได้นำช้างเผือก ๒ เชือก ที่คล้องได้ในเขตเมืองภูเขียวขึ้นน้อมเกล้าถวายและได้โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นระวางเป็นพระอินทรไอยรา และ พระเทพกุญชรช้าง ซึ่งเสาที่ผูกช้างเผือกเมื่อส่งเข้าเมืองนครราชสีมายังคงเก็บรักษาไว้ในศาลเจ้าพ่อช้างเผือก อยู่ริมถนนมิตรภาพ ตรงข้ามโรงเรียนสุรนารีวิทยา
          รัชกาลที่ ๒ ใน พ.. ๒๓๖๒ มีข่าคนหนึ่งชื่อ อ้ายสาเกียดโง้ง ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษขึ้นที่เมืองสาลวันทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมรวบสมัครพรรคพวกได้หลายพัน ยกทัพมาตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) สู้ไม่ได้ต้องทิ้งเมืองหนีมา รัชกาลที่ ๒ จึงให้พระยานครราชสีมายกกองทัพออกไปปราบปราม และสั่งเจ้าอนุแต่งกองทัพเมืองเวียงจันทน์ลงมาช่วยปราบปรามด้วยอีกพวกหนึ่ง เจ้าอนุจึงให้ราชบุตร (โย้) ซึ่งเป็นบุตรคุมกองทัพไปถึงเมืองจำปาศักดิ์ก่อนกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าราชบุตรรบชนะพวกขบถจับได้ตัวอ้ายสาเกียดโง้งกับพรรคพวกเป็นอันมาก ส่งเข้ามาถวายยังกรุงเทพฯ เมื่อเสร็จจากการปราบขบถครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าราชบุตร (โย้ให้เป็นเจ้าครองนครจำปาศักดิ์  และทรงไว้วางพระราชหฤทัยในเจ้าอนุ เจ้าอนุจึงมีอำนาจตลอดลำแม่น้ำโขงลงมาจนถึงฝ่ายใต้
          รัชกาลที่ ๓.. ๒๓๖๕ เจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี ซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้กราบบังคมทูลให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ขุนภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ
          เมื่อปี พ.. ๒๓๖๙ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุรุทธราช (เจ้าอนุวงศ์) ผู้ครองนครเวียงจันทน์ได้ขอครอบครัวลาวที่เมืองสระบุรีซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ ในคราวสงครามครั้งที่ได้พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ ณ กรุงธนบุรีนั้น เมื่อไม่ได้ดังประสงค์ก็ก่อการกบฏโดยยกกองทัพจะลงมาตีกรุงเทพมหานคร เมื่อเจ้าอนุยกกองทัพมาถึงเมืองนครราชสีมาและเข้าโจมตีเมืองนั้น พระยาปลัด (พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย) ผู้รักษาเมืองไม่อยู่ เพราะไปปราบการจราจลที่เมืองขุขันธ์ กองทหารของเจ้าอนุจึงตีเมืองนครราชสีมาได้โดยง่ายและกวาดต้อนกรมการเมือง ตลอดจนพลเมืองทั้งชายหญิงไปเป็นเชลย เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ ในระหว่างการเดินทางคุณหญิงโมภรรยาพระปลัดได้คิดอุบายกับกรมการเมืองให้ชาวบ้านเชื่อฟังทหารผู้ควบคุม แกล้งทำกลัวเกรงและประจบเอาใจจนทหารของเจ้าอนุตลอดจนเพี้ยรามพิชัย ซึ่งเป็นผู้ควบคุมให้ความไว้วางใจและพยายามถ่วงเวลาในการเดินทาง แล้วลอบส่งข่าวถึงเจ้าเมืองนครราชสีมา เจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) และพระยาปลัด จนกระทั่งเดินทางมาถึงทุ่งสัมฤทธิ์แขวงเมืองพิมาย ได้พักตั้งค่ายค้างคืนอยู่ ณ ที่นั้น คุณหญิงโมได้ออกอุบายให้ชาวเมืองนำอาหารและสุราไปเลี้ยงดูผู้ควบคุมอย่างเต็มที่ จนทหารต่างก็เมามายไม่ได้สติ หมดความระมัดระวัง พอตกดึกก็พร้อมกันจับอาวุธไล่ฆ่าทหารเวียงจันทน์ตายเป็นจำนวนมาก แล้วหาชัยภูมิตั้งมั่นอยู่ ณ ที่นั้น เจ้าอนุทราบข่าวก็ให้เจ้าสุทธิสาร (โป้) บุตรคนใหญ่คุมกำลังทหารเดินเท้าประมาณ ๓,๒๐๐ คน และทหารม้าประมาณ ๔,๐๐๐ คน รีบรุดมาทำการปราบปรามทำการต่อสู้รบกันถึงตลุมบอน แต่คุณหญิงโมก็จัดขบวนทัพ กรมการผู้ใหญ่คุมพลผู้ชาย ตัวคุณหญิงโมคุมพลผู้หญิงออกตีกองทัพพวกเวียงจันทน์แตกยับเยิน พอดีเจ้าอนุได้ข่าวว่ากองทัพจากกรุงเทพฯ ยกขึ้นมาช่วยชาวเมืองนครราชสีมา จึงต้องรีบถอนกำลังออกจากเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๖๙ วีรกรรมที่คุณหญิงโมได้ประกอบขึ้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาคุณหญิงโมดำรงฐานันดรศักดิ์ เป็นท้าวสุรนารี และพระราชทานเครื่องยศทองคำประดับเกียรติ ดังนี้
          - ถาดทองคำใส่เชี่ยนหมาก                 ๑  ใบ
          - จอกหมากทองคำ                          ๑  คู่
          - ตลับทองคำ                       ๓  เถา
          - เต้าปูนทองคำ                    ๑  อัน
          - คณโฑทองคำ                     ๑  ใบ
          - ขันน้ำทองคำ                     ๑  ใบ
          ในปี พ.. ๒๓๗๖ กองทัพนครราชสีมาได้เป็นกำลังสำคัญในการทำสงครามกับญวนในดินแดนเขมร เพื่อขับไล่ญวนออกจากเขมร เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) ได้ร่วมกับเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ทำการรบด้วยความสามารถ
          ปี พ.. ๒๓๗๗ เจ้าพระยานครราชสีมาได้นำช้างพลายเผือกหางดำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวางเป็น พระยามงคลนาดินทร์
          ปี พ.. ๒๓๘๐ โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมาทำนุบำรุงเมืองพระตะบองให้มั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น โดยนำชาวเมืองนครราชสีมาจำนวน ๒,๐๐๐ คน ไปปฎิบัติงานด้วยความเรียบร้อย
          ปี พ.. ๒๓๘๓ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) พร้อมด้วยบุตร (พระยาภักดีนุชิต) คุมกำลังพลไปปรามกบฏนักองค์อิ่มที่เมืองพระตะบอง เพราะนักองค์อิ่มได้ปกครองเมืองพระตะบองแทนพระยาอภัยภูเบศร์ แล้วคิดกบฏไปฝักใฝ่กับญวณ โดยจับกุมกรรมการเมืองพระตะบอง รวมทั้งน้องชายของเจ้าพระยานครราชสีมา (พระยาราชานุชิต) และกวาดต้อนครอบครัวหนีไป ทัพจากนครราชสีมาขับเคี่ยวจนถึงปี พ.. ๒๓๘๖ เจ้าพระยานครราชสีมาได้ล้มป่วยจึงกลับมาพักรักษาตัวที่เมืองนครราชสีมา ทำให้การรบยืดเยื้อต่อไปอีกซึ่งการทำสงครามกับญวนนี้เมืองนครราชสีมาเป็นกำลังสำคัญของราชการทัพมาโดยตลอด
          ปี พ.. ๒๓๘๗ เมืองนครราชสีมาได้นำช้างพลาย ๓ เชือก น้อมเกล้าถวายรัชกาลที่ ๓ คือ พลายบาน พลายเยียว พลายแลม
          ปี พ.. ๒๓๘๘ ได้นำช้างพลาย ๒ เชือก น้อมเกล้าถวายรัชกาลที่ ๓ อีกครั้ง คือ พลาย
อุเทน และพลายสาร
          รัชกาลที่ ๔ เมืองนครราชสีมามีความเจริญมากขึ้น เป็นศูนย์กลางการค้าขายของหัวเมืองทางตะวันออก เพราะมีสินค้าที่พ่อค้าต้องการมาก เช่น หนังสัตว์ เขาสัตว์ นอแรด งา และไหม พวกพ่อค้าเดินทางมาซื้อสินค้าเหล่านี้แล้วส่งไปจำหน่ายที่กรุงเทพฯ และซื้อสินค้าจากกรุงเทพฯ มาจำหน่ายในหัวเมืองตะวันออกโดยตลาดกลางอยู่ที่เมืองนครราชสีมา
          ในรัชกาลนี้ ทรงปรารภว่าควรจะมีราชธานีห่างทะเลไว้อีกสัก ๑ แห่ง ทรงพระราชดำริว่าควรเป็นเมืองนครราชสีมา จึงโปรดเกล้าให้พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปทรงตรวจภูมิประเทศพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหมเมื่อได้ทรงตรวจพิจารณาแล้วทรงเห็นว่ายังไม่เหมาะสม เพราะเมืองนครราชสีมาอัตคัตน้ำและการคมนาคมก็ยังลำบาก รัชกาลที่ ๔ จึงทรงเปลี่ยนพระทัยมาสร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรีแทน และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกราบทูลขอให้เปลี่ยนนามการเรียกดงพระยาไฟเสียใหม่ว่าดงพระยาเย็น เพื่อไม่ให้คนครั่นคร้ามหรือไม่กล้าเดินทางผ่านเข้าไป
          รัชกาลที่ ๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.. ๒๔๑๗ พวกฮ่อได้เข้ามารุกรานเมืองหนองคายหลายครั้ง และเมืองนครราชสีมาก็เป็นกำลังสำคัญในการจัดกำลังทัพไปปราบฮ่อ
          ส่วนวิธีการปกครองเมืองนครราชสีมา ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อ ร.. ๑๑๐ (.. ๒๔๓๔) โดยโปรดฯ ให้รวบรวมหัวเมืองในเขตที่ราบสูงเป็น ๓ มณฑล คือ
. มณฑลลาวพวน มี เมืองหนองคายเป็นที่ว่าการมณฑล
. มณฑลลาวกาว มี เมืองนครจำปาศักดิ์เป็นที่ว่าการมณฑล
. มณฑลลาวกลาง มี เมืองนครราชสีมาเป็นที่ว่าการมณฑล

สำหรับมณฑลลาวกลางนั้นมีกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงใหญ่ ต่อมาเมื่อได้
จัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาบทั่วทั้งพระราชอาณาเขต ให้เปลี่ยนนามมณฑลทั้ง ๓ เสียใหม่ คือ มณฑลลาวพวน เป็น มณฑลอุดร , มณฑลลาวกาว เป็น มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบล มณฑลลาวกลาง เป็นมณฑลนครราชสีมา
          ในด้านการคมนาคม ได้มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ใน พ.. ๒๔๓๔ ซึ่งเป็นทางรถไฟของรัฐบาลสายแรก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเปิดทางรถไฟเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.. ๒๔๔๓ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเมืองนครราชสีมาจนเท่าทุกวันนี้
          เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครราชสีมาในรัชกาลนี้คือในปี พ.. ๒๔๔๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฏราชกุมาร ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และต่อมาได้มีการทดลองการเกณฑ์ทหารแบบใหม่ที่มณฑลนครราชสีมาเป็นแห่งแรก ปรากฏว่าได้ผลดีจึงขยายไปยังมณฑลอื่น ๆ
          รัชกาลที่ ๖ ใน พ.. ๒๔๕๖ สมเด็จพระพันปีหลวง (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) เสด็จกรมทหารม้าที่ ๕ ที่มณฑลนครราชสีมา และทรงรับตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่ ๕ มณฑลนครราชสีมา
          ในปี พ.. ๒๔๖๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
เสนาธิการทหารบก เสด็จตรวจราชการทหารที่มณฑลนครราชสีมา
          รัชกาลที่ ๗ ใน พ.. ๒๔๗๕ หลังจากเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วได้ยกเลิกการจัดทำเมืองมณฑลเทศาภิบาลและจัดใหม่เป็นภาค มณฑลนครราชสีมาเปลี่ยนเป็นภาคที่ ๓ มีหัวเมืองอยู่ในความปกครอง ๖ จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี  ตั้งที่ว่าการอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
          ในปี พ.. ๒๔๗๖ ได้เกิดกบฏบวรเดช โดยมีพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้า ได้ทำการยึดนครราชสีมาเป็นกองบัญชาการ เพื่อรวบรวมกำลังพลในการที่จะเข้ายึดพระนครเพื่อบังคับให้คณะรัฐบาลของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออก ในการก่อการกบฏครั้งนี้ข้าราชการเมืองนครราชสีมาส่วนหนึ่งถูกควบคุมตัวไว้         ส่วนประชาชนถูก
หลอกลวงว่าได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในพระนคร ทหารจึงจำเป็นต้องไประงับเหตุการณ์ ต่อเมื่อได้ทราบแถลงการณ์จากรัฐบาล จึงเข้าใจว่าการกระทำของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นกบฏ ดังนั้นข้าราชการที่ถูกคุมขังจึงพยายามหลบหนีจากที่คุมขังแล้วรวมกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญเพื่อร่วมมือกับทางรัฐบาล ในการปราบปรามกบฏ
          ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ พันโท หลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บังคับการในการปราบปรามกบฏครั้งนี้และทำได้สำเร็จ หัวหน้ากบฏได้หลบหนีเอาตัวรอดไปอยู่ที่ไซ่ง่อน ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.. ๒๔๗๖
          รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งแรก และได้ประทับแรมที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ
.. ๒๔๙๘ และได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมพสกนิกรชาวเมืองนครราชสีมาอีกหลายครั้ง เช่น เสด็จทอดพระเนตรการเรียนการสอนหลักสูตรมัธยมแบบประสมที่โรงเรียนสุรนารีวิทยา , เสด็จทำพิธีเปิดอาคารเรียนโรงเรียนบุญวัฒนา เป็นต้น ยังความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวนครราชสีมาเป็นล้นพ้น

สมัยการจัดรูปการปกครองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
          การจัดรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล คือการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค   ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้นในส่วนภูมิภาค
          สมัยสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงจัดให้อำนาจการปกครองซึ่งกระจัดกระจายอยู่เข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง คือมิให้การบังคับบัญชาไปอยู่ที่เจ้าเมืองเพียงคนเดียว (ซึ่งเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมือง และมีอำนาจอย่างกว้างขวาง)
          ระบอบการปกครองแบบเทศาภิบาล เริ่มจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.. ๒๔๓๗ และ สำเร็จทั่วประเทศ เมื่อ พ.. ๒๔๕๘ โดยมีความจำเป็นมาดังนี้
          วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงแบ่งหน้าที่ระหว่างมหาดไทยและกลาโหมเสียใหม่ โดยให้มหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวง จึงรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล (ยังไม่เป็นระบอบมณฑลเทศาภิบาล) มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครองมณฑล จัดตั้งครั้งแรกมี ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียง (หรือมณฑลพายัพ) มณฑลลาวพวน (หรือมณฑลอุดร) มณฑลลาวกาว (หรือมณฑลอีสาน) มณฑลเขมร (หรือมณฑลบูรพา) มณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตกบัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
          .. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จกระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีมณฑลเทศาภิบาลขึ้นทั้งสิ้น 3 มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี และมณฑลนครราชสีมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพจากมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ได้สำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.. ๒๔๕๘

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
          พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด และอำเภอ และยกเลิกมณฑล จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร
          .. ๒๔๙๕ ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.. ๒๔๗๖  โดยมีสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ
          . จังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล
          . อำนาจบริหารในจังหวัด เป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด
          . คณะกรมการจังหวัด เดิมเป็นคณะบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการ
          แผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
          ต่อมา ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด และอำเภอ
          จังหวัดให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
          ปัจจุบัน จังหวัดนครราชสีมาแบ่งการปกครองออกเป็น ๒๐ อำเภอ กับ ๒ กิ่งอำเภอ คือ
            . อำเภอเมืองนครราชสีมา               อำเภอโชคชัย
            . อำเภอครบุรี                            อำเภอเสิงสาง
            . อำเภอปักธงชัย                        อำเภอปากช่อง
            . อำเภอสีคิ้ว                    อำเภอด่านขุนทด
            . อำเภอสูงเนิน                           ๑๐. อำเภอขามทะเลสอ
          ๑๑. อำเภอโนนไทย                         ๑๒. อำเภอขามสะแกแสง
          ๑๓. อำเภอโนนสูง                           ๑๔. อำเภอบัวใหญ่
          ๑๕. อำเภอประทาย                         ๑๖. อำเภอคง
          ๑๗. อำเภอพิมาย                            ๑๘. อำเภอห้วยแถลง
          ๑๙. อำเภอจักราช                           ๒๐. อำเภอชุมพวง
          ๒๑. กิ่งอำเภอบ้านเหลื่อม                            ๒๒. กิ่งอำเภอหนองบุนนาก

 


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา . นครราชสีมา : หจก.นิวสมบูรณ์การพิมพ์ , ๒๕๒๖ .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น